ความแตกต่างของตำแหน่งศาสตราจารย์แต่ละตำแหน่ง

ตำแหน่งศาสตราจารย์แต่ละตำแหน่ง ประกอบไปด้วย

ศาสตราจารย์กิตติคุณ หรือ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ เป็นตําแหน่งที่แต่งตั้งจากอาจารย์ประจําผู้เคยดํารงตําแหน่งศาสตราจารย์ของมหาวิทยาลัย ซึ่งมีความรู้ความสามารถ และความชํานาญเป็นพิเศษ และพ้นจากตําแหน่งไปโดยไม่มีความผิด สภามหาวิทยาลัยอาจแต่งตั้งให้เป็นศาสตราจารย์กิตติคุณหรือศาสตราจารย์เกียรติคุณในสาขาวิชาที่ศาสตราจารย์นั้นมีความเชี่ยวชาญ เพื่อเป็นเกียรติยศได้ศาสตราจารย์ผู้นี้อาจสอนในมหาวิทยาลัยต่อไปก็ได้แต่ไม่ใช่ศาสตราจารย์ที่ต่ออายุราชการ ซึ่งบางมหาวิทยาลัยจะปรากฏชื่อศาสตราจารย์กิตติคุณหรือศาสตราจารย์เกียรติคุณแยกจากศาสตราจารย์ธรรมดาในคู่มือการศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา

ศาสตราภิชาน เป็นตําแหน่งที่ไม่ใช่การกําหนดตําแหน่งทางวิชาการ แต่งตั้งเพื่อดึงดูดผู้ทรงคุณวุฒิยิ่งมาทํางานในมหาวิทยาลัย เป็นตําแหน่งที่ได้รับเงินสนับสนุนอย่างพอเพียงจากแหล่งเงินทุนภายนอกมหาวิทยาลัย ผู้ได้รับการแต่งตั้งอาจเป็นผู้ช่วยศาสตราจารย์ รองศาสตราจารย์ ศาสตราจารย์ หรือนักวิชาการที่ไม่เคยดํารงตําแหน่งทางวิชาการก็ได้ เป็นตําแหน่งที่กําหนดภารกิจชัดเจน มีระยะเวลาในการดํารงตําแหน่งและมีค่าตอบแทนของแต่ละตําแหน่งไม่เท่ากัน

ศาสตราจารยคลินิก เป็นตําแหน่งทางวิชาการที่สภามหาวิทยาลัยแต่งตั้งบุคลากรฝ่ายเวชกรรมที่มีความรู้ความชํานาญ ในด้านการสอน การวิจัย การค้นคว้าทดลอง และวิธีการบําบัดรักษาในภาคปฏิบัติซึ่งมีคุณค่าทางวิชาการ

ศาสตราจารยกิตติมศักดิ์ เป็นตําแหน่งเกียรติยศที่ไม่ใช่ตําแหน่งทางวิชาการ ซึ่งมหาวิทยาลัยมอบให้แก่บุคคลผู้มีความเชี่ยวชาญและทําประโยชน์อย่างยิ่งต่อมหาวิทยาลัยและชุมชน

สำหรับในประเทศไทย ตำแหน่งศาสตราจารย์ ถือเป็นตำแหน่งที่มีเกียรติที่แสดงถึงความเป็นผู้มีความรู้สูง และมีผลงานด้านการศึกษาของบุคคลนั้น ซึ่งต้องผ่านการกลั่นกรองและประเมินผลงานอย่างเคร่งครัดและเข้มงวดในความถูกต้องของวิชา ศาสตราจารย์ประเภทอื่นอาจมีวิธีพิจารณาที่แตกต่างกันออกไป ตามประเภทของศาสตราจารย์ ศาสตราจารย์ระดับสูงสุด เรียกว่า ศาสตราจารย์ญาณวิทย์ ผู้ที่เป็นศาสตราจารย์ สามารถใช้คำว่า ศาสตราจารย์ นำหน้าชื่อเพื่อลงชื่อในหนังสือ เอกสาร งานสารบรรณ เสมือนยศหรือคำนำหน้าชื่ออย่างอื่น ทั้งนี้การแต่งตั้งศาสตราจารย์ในประเทศไทย จะต้องผ่านกระบวนการตาม พระราชบัญญัติระเบียบบริหารข้าราชการพลเรือนในมหาวิทยาลัย ซึ่งทางคณะกรรมการข้าราชการพลเรือนในมหาวิทยาลัยและทบวงมหาวิทยาลัย จะเป็นผู้ให้ความเห็นชอบแล้วนำเข้าคณะรัฐมนตรี เพื่อผ่านไปโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นศาสตราจารย์ ศาสตราจารย์พิเศษ