ในประเทศไทย ตำแหน่งศาสตราจารย์ ถือเป็นตำแหน่งที่มีเกียรติที่แสดงถึงความเป็นผู้มีความรู้สูง และมีผลงานด้านการศึกษาของบุคคลนั้น ซึ่งต้องผ่านการกลั่นกรองและประเมินผลงานอย่างเคร่งครัดและเข้มงวดในความถูกต้องของวิชา ซึ่งการแต่งตั้งศาสตราจารย์ในประเทศไทย จะต้องผ่านกระบวนการตาม พระราชบัญญัติระเบียบบริหารข้าราชการพลเรือนในมหาวิทยาลัย ทางคณะกรรมการข้าราชการพลเรือนในมหาวิทยาลัย (ก.ม.) และทบวงมหาวิทยาลัย จะเป็นผู้ให้ความเห็นชอบ แล้วการแต่งตั้งก็นำเข้าคณะรัฐมนตรี เพื่อผ่านไปโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นศาสตราจารย์ สำหรับตำแหน่งศาสตราภิชานอาจเป็นตำแหน่งที่มีกำหนดเวลาโดยจะขึ้นกับปีงบประมาณหรือกองทุนศาสตราภิชานของมหาวิทยาลัยที่เชิญ และศาสตราจารย์กิตติเมธีในประเทศไทยเป็นตำแหน่งที่มหาวิทยาลัยแต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิภายนอกมาปฏิบัติงานวิจัย ทั้งนี้ตำแหน่งศาสตราภิชานและศาสตราจารย์กิตติเมธี อาจจะมีเงื่อนไขในการดำรงตำแหน่งไม่เหมือนกัน โดยขึ้นอยู่กับมหาวิทยาลัยกำหนด
ศาสตรเมธาจารย์คนแรกของไทย คือ ศาสตราจารย์ ดร.จำรัส ลิ้มตระกูล แห่งภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งได้รับการยกย่องจาก สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ให้เป็น ศาสตรเมธาจารย์ สวทช ประจำปี 2552 (2009 NSTDA Chair Professor)
สำหรับศาสตราจารย์ของไทย ส่วนมากไม่มีผลงานในเชิงทฤษฎี แต่เป็นผลงานงานวิจัย พิสูจน์สมมติฐานที่ได้รับการยอมรับว่าดีมาก ถ้าเป็นงานวิจัยที่เกี่ยวกับของไทย ควรได้รับการตีพิมพ์ในวารสารวิชาการของราชบัณฑิตสภาหรือวารสารวิชาการของสภาวิจัยแห่งชาติด้วย ศาสตราจารย์ต้องเป็นผู้มีความรู้ความสามารถในเชิงทฤษฎี การวิจัย เขียนบทความทางวิชาการ หรือตำราเรียน ที่ผ่านการประเมินเฉพาะสาขาวิชานั้นๆ มาแล้ว ศาสตราจารย์ที่ไม่ต้องทำผลงานวิจัย คือ ผู้ที่เขียนบทความทางวิชาการ หรือหนังสือ ที่มีข้อเสนอเชิงวิชาการจำนวนมาก ต้องเป็นแนวคิดใหม่ และหากเป็นงานวิจัยที่เป็นลักษณะสากลควรได้รับการตีพิมพ์ในวารสารทางวิชาการที่เป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ ส่วนงานวิจัยระดับดีเลิศ จะเกี่ยวข้องกับงานเชิงทฤษฎีที่ไขปริศนา สามารถพิสูจน์สมมุติฐานที่มีผู้สร้างไว้ ในด้านงานวิจัยระดับดีมาก ไม่จำเป็นต้องได้รับรางวัลใดๆ แต่มักได้รับการกล่าวถึงโดยงานวิจัยอื่น ๆ
โดยในปัจจุบัน ผู้เชี่ยวชาญที่มีผลงานระดับศาสตราจารย์จำนวนหนึ่งไม่เพียงแค่สอนในมหาวิทยาลัยและไม่ได้มีตำแหน่งเป็นศาสตราจารย์เท่านั้น ผู้เชี่ยวชาญเหล่านี้เลือกที่จะทำงานในบริษัทเอกชน เนื่องจากจะได้ผลตอบแทนสูงกว่ามหาวิทยาลัยระดับกลางค่อนข้างมาก อย่างเช่น บริษัทเอกชนที่มีผู้เชี่ยวชาญจำนวนมากในสาขาต่างๆ