ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ครูแห่งวงการศิลปะของไทย

ในวงการศิลปะไม่มีใครที่จะไม่รู้จัก ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ซึ่งเป็นครูด้านศิลปะที่เหล่าศิลปินต่างให้การยกย่อง อีกทั้งยังเป็นผู้วางรากฐานการศึกษาวิชาศิลปะในประเทศไทย และครูสอนศิลปะในมหาวิทยาลัยศิลปากรด้วย ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี เดิมมีชื่อว่า คอร์ราโด เฟโรชี

ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี เกิดเมื่อวันที่ 15 กันยายน พ.ศ.2435 ประเทศอิตาลี บิดาชื่อ  นายอาร์ทูโด มารดาชื่อ นางซันตินา มีอาชีพทำธุรกิจการค้า  ท่านได้สมรสกับนาง  FANNI  VIVIANI มีบุตรด้วยกัน 2 คน บุตรหญิงชื่ออิซาเบลลา ปัจจุบันเป็นนักธุรกิจ  บุตรชายชื่อ  โรมาโน  เป็นสถาปนิก

ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ท่านได้ชนะการประกวดการออกแบบเหรียญเงินตราสยามที่จัดขึ้นในยุโรป ด้วยเหตุนี้จึงเดินสู่แผ่นดินสยามเพื่อเข้ามารับราชการเป็นช่างปั้นประจำกรมศิลปากร ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว จากนั้นท่านจึงได้รับการแต่งตั้งเป็นอาจารย์สอนวิชาช่างปั้นหล่อ

นายกรัฐมนตรีตระหนักถึงความสำคัญของศิลปะว่าเป็นวัฒนธรรมที่สำคัญยิ่งสาขาหนึ่งของชาติ จึงได้มีคำสั่งให้ อธิบดีกรมศิลปากร ในขณะนั้นคือ พระยาอนุมานราชธน ดำเนินการปรับปรุงหลักสูตร และ ตรา พระราชบัญญัติ ยกฐานะโรงเรียนศิลปากรขึ้นเป็น มหาวิทยาลัยศิลปากร โดยให้ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี  เป็นผู้อำนวยการสอนและคณบดีคนแรกของมหาวิทยาลัยศิลปากร

ในระหว่างที่ท่านอยู่ในมหาวิทยาลัยศิลปากรนั้น ท่านเป็นบุคคลสำคัญในการผลักดันให้ศิลปะของไทยเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก และในปีพุทธศักราช ๒๔๙๑ ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ได้จัดการแสดงศิลปะไทยในกรุงลอนดอน ประกอบด้วยผลงานของศิลปินไทยและศิลปะของไทยซึ่งได้รับผลสำเร็จอย่างงดงาม

ในบั้นปลายชีวิตของท่าน ท่านได้ป่วยเป็นโรคเนื้องอกในลำไส้ และเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลศิริราช และถึงแก่อนิจกรรมในภายหลัง สิริรวมอายุของท่าน 69 ปี รวมเวลารับราชการในไทย 38 ปี ซึ่งนับเป็นการสูญเสียอย่างมากแก่วงการศิลปะ

ในตลอดชีวิตของศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี อ่านได้อุทิศตนทั้งกายและใจให้กับวงการศิลปะของไทยมาเกือบทั้งชีวิต นอกจากนี้ท่านยังเป็นครูที่มีความเมตตากรุณา และถือหลักคุณธรรมเป็นที่ตั้ง ก่อนท่านถึงแก่อนิจกรรมท่านได้วางรากฐานของศิลปะให้แก่คนรุ่นหลังไว้อีกด้วย